You are currently viewing ‘สอศ.’ จับมือ ‘เอกชน’

‘สอศ.’ จับมือ ‘เอกชน’

‘สอศ.’ จับมือ ‘เอกชน’ สอนทวิภาคีเรียนรู้เครื่องจักรกลหนัก-งานเซอร์วิส รองรับศูนย์บริการทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) นายศรัณย์ ชินประหัษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับบริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ.2563 ในสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิค เครื่องจักรกลหนัก โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี นำร่องในวิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช โดยมี นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้แทนสถานศึกษา และ นายณัฐกิตติ์ ศิริรัตนธัญญะกุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้จัดการส่วนอาวุโสฝ่ายกิจการทั่วไป และหัวหน้าแผนกกิจการทั่วไปและจัดซื้อ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ร่วมเป็นพยาน

เรืออากาศโท สมพร กล่าวว่า สอศ.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของภาครัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งความร่วมกับภาคเอกชนอย่าง บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ในครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน นักศึกษา ในสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิค เครื่องจักรกลหนัก ทั้งรูปแบบการเรียนการสอนปกติ และระบบทวิภาคี โดยนำร่องจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีรุ่นแรก จำนวน 11 คน ในวิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช ซึ่งสาขางานดังกล่าวนับเป็นสาขางานใหม่ของหลักสูตร และเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นอนาคตในการประกอบอาชีพ สำหรับผู้เรียน และสอดรับกับนโยบายจุดเน้นและทิศทางการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) โดยนักเรียน นักศึกษา จะได้เรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์จริงเพื่อเพิ่มทักษะและพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน

ด้านนายศรัณย์กล่าวว่า บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด มีศูนย์บริการ 23 ศูนย์ทั่วประเทศ ทางบริษัทมีเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรกลหนัก ไม่ว่าจะเป็นรถขุดไฮดรอลิค รถตักล้อยาง รถดันดิน รถเกลี่ยดิน ซึ่งในการร่วมมือครั้งนี้ ทางบริษัทมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้จากเครื่องจักรจริง เทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานหรือสามารถผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการได้

“ทั้งนี้ในด้านความร่วมมือในการจัดการศึกษา บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐาน เพื่อการนำไปประกอบอาชีพในอนาคต และต้องการที่จะยกระดับในมิติของเทคโนโลยีในเครื่องจักรหนัก ใน 3 ด้าน คือความปลอดภัยของผู้เรียน การสื่อสารทักษะด้านภาษา ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ และด้านวัฒนธรรม จริยธรรม และวินัยการทำงานร่วมกันกับสถานประกอบการที่มีเป็นมีการร่วมทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะมาร่วมเติมเต็มให้กับผู้เรียน ซึ่งโครงการความร่วมมือนี้ถือเป็นการนำร่องกับกับบริษัทด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เรียนจะได้สิทธิเป็นลำดับแรกในการคัดเลือกเพื่อร่วมงานกับบริษัท โดยหวังว่าในอนาคตจะสามารถขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไป” นายศรัณย์กล่าว

ใส่ความเห็น